จะคิดใหม่ในโลกใหม่ได้ ต้องทิ้งนิสัยเก่า ความคิดเก่าธรรมเนียมเก่า และวัฒนธรรมเก่า
วันที่ 14 ก.ย. 2563 เวลา 07:47 น.
คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 37/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
ตั้งแต่เราได้เจอกับไวรัสตัวใหม่ที่ชื่อ COVID-19 นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยันมาจนเดือนกันยายนปีนี้ และคาดว่าจะต้องอยู่กับเขาแบบยังไม่มีวัคซีน จนมีการค้นพบวัคซีน และมีการผลิต/แจกจ่ายกันจนทั่วโลก 7.6 พันล้านคน อาจต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2565
ขณะที่สำนักวิจัยของธนาคารกรุงไทยระบุว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาอาจต้องใช้เวลา 3-4 ปี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกกับเราว่าต้องอยู่กับเขาน่าจะ 3 ปี
จนเมื่อเร็วๆ นี้เรารักษาสถิติไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศจบที่ 101วัน (ไม่ทะลุสถิติ 105 วัน) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงบางท่านบอกว่า เราจะค่อยๆ ฟื้นตัวหากไม่มีการระบาดใหญ่ในแบบทุลักทุเล ประการสุดท้ายการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะไม่เกิน 3% การค้าการขายน่าจะไม่คึกคัก คำว่าการปรับตัวอาจไม่เพียงพอไปแล้ววันนี้
มีรุ่นพี่ผู้เขียนซึ่งเก่งมากๆและเป็น CEO ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศบอกว่า ในชีวิตนี้ไม่นึกว่าต้องสั่งหยุดสายการผลิตของโรงงานเพื่อป้องกันชีวิตคนงานทั้งหมดท่ามกลางเสียงคัดค้านก่อนมีการปิดเมือง พอปิดเมืองจริง คนที่ค้านต่างกลับมาเห็นด้วยและยอมรับความจริงรุ่นพี่ท่านนี้บอกกับผมว่า เรากำลังอยู่ในโลกใบใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิม และจะไม่มีวันเหมือนเดิม เราทุกคนเหมือนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสที่ค้นพบโลกใหม่ ต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่กับชนพื้นเมืองแบบไม่ต้องฆ่าฟันกัน
เมื่อไปถามผู้คนระดับผู้นำองค์กร หรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จะพบคำตอบว่า บริหารงานแบบรักษาตัวตามอาการ ไม่วางแผนยาว เน้นการปฏิบัติที่ปลอดภัยของคนในบังคับบัญชาพร้อมกับการไปสู่เป้าหมายเดือนต่อเดือน เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ประการสุดท้ายแกบอกกับผู้เขียนว่า จะเกษียณก่อนกำหนดแน่นอน เพื่อเอาเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตออกเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยให้ครบทุกจังหวัดตามความฝันที่เคยตั้งเป้าหมายไว้เมื่อเริ่มทำงานใหม่ๆ ผู้เขียนถามว่าทำไมจะต้องรีบขนาดนั้น คำตอบคือ ชีวิตยังมีอะไรต้องทำมากกว่าการแบกภาระในหน้าที่การงานอันเป็นสิ่งสมมติ
ตอนนี้เราเจอ COVID-19 เดี๋ยวเราต้องเจอ COVID-22 หรือ COVID-25 แน่ๆ ไม่ปีใดก็ปีหนึ่งสำหรับเราๆ ท่านๆ ที่ยังมีภาระต้องแบกหาม ยังต้องดำเนินชีวิตกันต่อ ภายใต้สถานการณ์ โรคซ้ำกรรมซัด วิบัติเป็น มิเห็นที่พึ่งพาจะอาศัย ก็ต้องขออนุญาตหารือว่า แนวทางที่จะเดินเผชิญกรรมต่อไปในวันพรุ่งนี้และวันต่อๆ ไปที่เรียกว่า ชีวิตวิถีใหม่ หรือชีวิตในนิยามใหม่ หรือชีวิตในความปกติใหม่ ก็ต้องทำอย่างน้อย 3-4 อย่างดังนี้
1. ทิ้งนิสัยเก่า นิสัยที่บอกว่าอะไรก็ได้ นิสัยที่ยังไงก็ได้ นิสัยที่ว่าเดี๋ยวค่อยทำก็ได้ นิสัยที่ว่าการเรียนรู้ใหม่จะทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย ต้องเลิกครับ ยืนยันว่าต้องเลิก คำว่าต้องกันไว้ก่อน ชิงลงมือก่อนอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อดทนไม่กินใช้สิ้นเปลืองเพื่อเก็บออมมาใช้ยามจำเป็นต้องออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง จะต้องถูกนำมาใช้ในการปฏิบัติตนประจำวันเลยทีเดียว
2. ความคิดเก่าต้องเลิก ความคิดที่ว่าข้าอาบน้ำร้อนมาก่อนต้องจบ หรือเชื่อว่าคนมีประสบการณ์ในอดีตจะเกิดความสำเร็จในอนาคตไม่จริงอีกต่อไป หรือเชื่อพี่เถอะเรื่องแบบนี้ไม่มีทางจะเกิดขึ้น หรือการดูถูกคนรุ่นใหม่ คนทำงานใหม่ว่า พวกคุณจะไปรู้อะไรกับโลกในปัจจุบัน ที่จริงแล้วคือคนพูดนั้นได้ตกยุคไปแล้วการเล่นไลน์เป็น การยกเอาเรื่องในยูทูปมาบรรยายว่าตนเองรู้เรื่องนั่นนี่แล้วจะถือว่าตนเองทันยุคทันสมัย คงจะเป็นได้เพียงการสะกดจิตตัวเองว่าฉันเก่ง ฉันรู้ เท่านั้น ความคิดใหม่วันนี้น่าจะเป็นว่ากระบวนการคิด การเรียนรู้ที่จะคิดต่อจากคนคิดต่างโดยไม่ติดกับดักความคิดเดิมๆ ของตนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่เรา "ไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร"
3. ธรรมเนียมเก่าบางสิ่งอาจต้องเลิกโดยสิ้นเชิง เช่น ธรรมเนียมการประชุมที่ขาดการโต้แย้ง ฟังหัวโต๊ะอย่างเดียวต้องเลิก คนที่อยู่หน้างาน อยู่กับลูกค้าคือคนที่จะตอบคำถามได้ดีที่สุดว่า CEO ควรต้องสั่งการอะไรออกไป งานจึงจะจบแบบสวยๆ การศึกษาที่ได้รับจากสถาบันในอดีต เกรดหรือปริญญาในอดีตอาจไม่สำคัญกว่าจินตนาการของคนที่อยู่หน้างาน หรือคนที่พบเจอ pain point ของลูกค้า
4. วัฒนธรรมเก่าต้องเลิก นายว่าขี้ข้าพลอย เชื่อผู้ใหญ่หมาไม่กัด เดินตามหลังผู้ใหญ่สบายกว่า ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน ต้องเลิกและต้องเลิกให้ได้ในองค์กรหากคิดจะรอดจากไวรัสที่กำลังทำร้ายการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน วัฒนธรรมที่เลวร้ายที่สุด ที่จะต้องรีบดำเนินการทำลายให้หมดสิ้นก็คือ ทำมากผิดมาก ทำน้อยผิดน้อย ไม่ทำก็ไม่ผิด หายใจทิ้งไปวันๆ แบบไม่คิดอะไรมีหัวเอาไว้คั่นหูสองข้างไม่ให้ติดกันก็พอ คงยากที่จะรอดจากการมีชีวิตการงานในอนาคต ตัวอย่างเช่นถึงวันนี้การทำงานจากที่พักอาศัย/บ้าน อาจให้ประสิทธิภาพและลดต้นทุนขององค์กรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ความเชื่อที่ว่าถ้าอยู่บ้านแล้วไม่มีทางจะมีสมาธิทำงานได้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว การประชุมที่คณะกรรมการมีทั้งที่มาประชุมและที่ประชุมทางไกลเข้ามาได้กลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานวิถีใหม่ไปแล้วเวลานี้
จะคิดใหม่ในโลกใหม่ได้ ต้องทิ้งนิสัยเก่า ความคิดเก่า ธรรมเนียมเก่า และวัฒนธรรมเก่า เพราะถ้าเราติดกับดักในความคิด ความรู้สึก ความรู้เรื่องตามที่เชื่อๆ กันมา สอนๆ กันมา นอกจากเราจะไม่ได้คิดใหม่ในโลกใหม่ เราอาจจะต้องอยู่กับความทุกข์ในโลกเก่าใบเดิม ที่ที่เคยให้ความสุขกับเรายามที่ไม่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเอง
ขอบคุณครับ
September 14, 2020 at 07:53AM
https://ift.tt/2ZzvH9b
จะคิดใหม่ในโลกใหม่ได้ ต้องทิ้งนิสัยเก่า ความคิดเก่าธรรมเนียมเก่า และวัฒนธรรมเก่า - โพสต์ทูเดย์
https://ift.tt/375SP1C
Bagikan Berita Ini
0 Response to "จะคิดใหม่ในโลกใหม่ได้ ต้องทิ้งนิสัยเก่า ความคิดเก่าธรรมเนียมเก่า และวัฒนธรรมเก่า - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment