หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
จรัล ดิษฐาภิชัย นักนิยมสาธารณรัฐ ผู้เชิดชูการปฏิวัติฝรั่งเศส พูดถึงการชุมนุมของเด็กนักเรียนว่า การชุมนุมของนักเรียน 50 กลุ่มทั่วประเทศ หน้ากระทรวงศึกษาธิการวันนี้ มีลักษณะประวัติศาสตร์ คือเหตุการณ์ไม่เคยเกิดมาก่อน จักต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเคลื่อนไปข้างหน้า ส่วนเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เพราะมุ่งขจัดความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ธรรมเนียมประเพณีเก่า สร้างแบบใหม่ ดังเพลง ผู้ใหญ่เอ๋ย ผู้ใหญ่ดี
จรัลนั้นเป็นฝ่ายซ้ายเข้ากระดูกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แม้วันนี้เราอาจต้องถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นคอมมิวนิสต์หรือพวกเสรีนิยมใหม่ที่รัฐไม่ควรแทรกแซงในทุกด้าน ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ผู้ล่วงลับเคยล้อเลียนจรัลด้วยโคลงบทหนึ่งว่า “มโนมอบแด่มาร์ก เลนิน แขนถวายสตาลิน เทิดหล้า ดวงใจมอบโฮจิมินห์ นาพ่อ เกียรติศักดิ์รักของข้าฯ มอบให้เหมาเจ๋อตง”
จริงๆ แล้วการชุมนุมของนักเรียนวันนั้น ผมติดตามการรายงานสดผ่านเพจต่างๆ อย่างสนใจ ได้ยินพวกเขาพูดถึงความเท่าเทียมทางการศึกษา กฎระเบียบที่ล้าหลัง เรื่องเผ้าผมเครื่องแต่งกายมีทั้งที่ผมเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่ก็ชื่นชมที่พวกเขากล้าที่จะลุกขึ้นมาท้าทายกฎระเบียบของสังคม กล้าที่จะแสดงออก ช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยแห่งกบฏที่งดงามเสมอ
แต่ในขณะที่ผมได้ยินเขาพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผมได้ยินเขาล้อเลียน คชโยธี เด็กที่ขึ้นเวทีของกลุ่มหมอวรงค์ซึ่งสะท้อนถึงผลผลิตทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมออกมา ก็อดจะสงสัยไม่ได้ว่า เขาพูดถึงความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมจริงๆ หรือ ผมได้ยินเขาเอาครูมาพูดล้อเลียน เป็นคนให้ได้ก่อนจะเป็นครู หรือพูดว่าความรู้ของเขานั้นไม่ได้มาจากระบบการศึกษาแต่มาจากอ่านด้วยตัวเอง
ผมเห็นพวกเขาเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้มาพูดแลกเปลี่ยนความเห็นกันบนเวที แต่ได้ยินเสียงโห่ฮาของพวกเขาตลอดเวลาที่รัฐมนตรีพยายามอธิบายในขณะที่เรียกร้องความเท่าเทียมและเปิดใจรับฟังพวกเขา
ก่อนหน้านี้ผมได้ยินพวกเขาบอกว่า เงินเดือนของครูมาจากค่าเทอมของพวกเขา เหมือนกับครูเป็นเพียงเครื่องจักรการผลิต หรือพูดว่า พ่อแม่เกิดพวกเขามาเพราะความสนุกของตัวเอง ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า แม้พวกเขาจะพยายามแสดงตัวเป็นพวกเสรีนิยม แต่เขาก็เป็นพวกเสรีนิยมสุดโต่ง ที่ลดทอนคุณค่าของมนุษย์ให้เหลือเพียงแค่มิติทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว
เพราะผมไม่รู้เหมือนกันว่า เด็กยุคนี้มองคุณค่าทางการศึกษาอย่างไร ได้ยินเขาพูดถึงหลักประกันที่จะเรียนจบแล้วมีงานทำ ครูไม่ใช่เรือจ้างแต่เป็นพวกรับจ้างสอนที่มีผลตอบแทน คล้ายกับการศึกษาเหมือนกับการลงทุนทางธุรกิจที่ต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือมีกำไร ไม่ใช่เครื่องมือในการกล่อมเกลาให้คนรู้จักกฎระเบียบของสังคมหรือเป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมือง แต่พวกเขาสามารถได้สิ่งเหล่านั้นด้วยศักยภาพของตัวเองไม่ใช่จากในห้องเรียน
ผมไม่รู้ว่า เรียกความคิดเหล่านั้นว่า เสรีนิยมใหม่หรือเสรีนิยมแบบสุดโต่งหรือเปล่า
แต่เมื่อจรัลพูดถึงการตื่นตัวของนักเรียนว่า การปฏิวัติวัฒนธรรม ก็ทำให้ผมนึกถึงการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคของเหมาเจ๋อตงที่ทำให้เกิด ขบวนการเรดการ์ด และกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คนจีนอยากจะลืม
ในตอนนั้นเหมาต้องการขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยม ประเพณีและวัฒนธรรมจีน ออกจากวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์และเพื่อกำหนดแนวทางแบบเหมาภายในพรรค ขบวนการเรดการ์ดจึงก่อเกิดขึ้นโดยกลุ่มเยาวชนที่บูชาเหมา แน่นอนความแตกต่างของเรดการ์ดจีนกับการเคลื่อนไหวของเยาวชนไทยในเวลานี้คือ การมีอำนาจรัฐหนุนหลัง
แต่ในยุคเรดการ์ดจีนเทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่พัฒนาเท่าวันนี้ พวกเขาอิงแอบกับอำนาจรัฐ แต่พูดได้ว่า กลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวของเราวันนี้อิงแอบอยู่กับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทวิตเตอร์ที่พวกเขาเกาะกุมอำนาจการสื่อสารได้เหนือกว่าในเชิงปริมาณ พูดได้ว่าพวกเขามีอำนาจอินเตอร์เน็ตหนุนหลัง
และเราเห็นได้ว่า อำนาจรัฐปัจจุบันถูกคุมคามด้วยเครื่องมือสื่อสารที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์
มีคนพูดว่า รัฐมีไอโอเป็นเครื่องมือในการสร้างกระแส แต่นักสื่อสารเชื่อว่า ไอโอของรัฐนั้นไม่สามารถเทียบได้กับพลังคนหนุ่มสาวในโลกอินเตอร์เน็ตเลย
ในขณะที่เรดการ์ดบูชาเหมา ถ้าถามว่าเยาวชนในยุคนี้เขาบูชาใคร อาจจะไม่ใช่คนๆเดียวแต่เป็นการบูชากลุ่มคนที่มีความคิดไปในทางเดียวกันก็คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิณ ชัชวาลพงศ์พันธ์ ฯลฯ
เหมาอ้างว่ากระฎุมพีกำลังแทรกซึมรัฐบาลและสังคมอย่างไม่มีขอบเขต โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูทุนนิยม จนนำไปสู่การกวาดล้างข้าราชการอาวุโสที่ถูกกล่าวหาว่าเดิน “ถนนทุนนิยม” คือ ประธานาธิบดีหลิว เส้าฉีและเติ้งเสี่ยวผิง
ฝ่ายเยาวชนไทยวันนี้ก็ถูกปลุกฝังจากคนที่พวกเขาเทิดทูนว่า กระฎุมพีศักดินากำลังแทรกซึมรัฐบาลและสังคมอย่างไม่มีขอบเขต พวกเขาจึงใช้ศัพท์คอมมิวนิสต์เก่าว่า “ปลดแอก” เป็นธงนำในการเคลื่อนไหว จนกระทั่งมองคนที่เห็นต่างจากพวกเขาว่า เป็นสลิ่มที่หมายถึงการเหยียดหยามดูแคลนว่าเป็นพวกไม่มีความคิดที่ต้องถูกกำจัดให้หมดไป ในขณะที่พวกเขาเรียกร้องสังคมให้รับฟังเสียงของพวกเขา
พวก “เรดการ์ด” ดำเนินแผนการ ปฏิวัติวัฒนธรรม โดยหากใครลบหลู่ประธานเหมาจะถูกประจานและประหารชีวิต เรดการ์ดบางคนกล่าวหาว่า แม่ของตัวเองพูดดูหมิ่นประธานเหมา กระทั่งแม่ถูกนำไปประหารชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อแบบเก่าถูกยกเลิกมีการทุบทำลายป้ายหลุมศพ หนังสือเก่าแก่ สิ่งก่อสร้างต่างๆ วัดวาอาราม รูปปั้น งานศิลปะ โบราณวัตถุ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของจีน ต่างถูกทำลายลง คนในครอบครัวพี่น้องตัดขาดกัน,เพื่อนบ้าน,ชุมชนต่างไม่ไว้วางใจกัน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นสายลับที่คอยรายงานความผิดให้ทางการรู้
วันนี้ใครลองไปวิจารณ์คนที่เยาวชนคนหนุ่มสาวเทิดทูนบูชา จะถูกทัวร์ลงถล่มด้วยพลังของการสื่อสารที่เหนือกว่า โดยเรียกสิ่งที่พวกเขาทำว่า social sanctions แต่ถ้าฝ่ายเขาถูกกระทำจากอีกฝั่งจะกล่าวหาว่าเป็นการล่าแม่มด
กลับไปที่จีนยุคนั้นนักวิชาการที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศถูกจับประจานและประณาม พระสงฆ์ถูกจับสึก ครูถูกแขวนป้ายประจาน ราดน้ำร้อน ถ่มถุยโดยหมู่นักเรียนในความผิดที่ว่าสอนเนื้อหารับใช้ชนชั้นศักดินา
วันนี้ นักเรียนเยาวชนคนหนุ่มสาวของเราก็เรียกร้องให้ทำลายวัฒนธรรมค่านิยมแบบเก่าของจากสังคมของพวกเขา ประณามครูว่าสอนประวัติศาสตร์เพื่อให้รับใช้ศักดินา ไม่ต้องการกฎระเบียบที่มากะเกณฑ์วิถีชีวิตของพวกเขา เขาต้องการทางเลือกและเสรีภาพที่มากขึ้น เพื่อจะออกจากสังคมไทยที่ล้าหลัง ต้องลดองค์ประกอบของรัฐลง และรัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของพวกเขาในทุกด้าน
ในขณะที่เหตุการณ์ตอนนั้นของจีนถูกเรียกว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมแบบที่จรัลให้นิยามการเคลื่อนไหวของนักเรียนเยาวชนไทยในเวลานี้ แต่ปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไปคนจีนเรียกมันว่า ทศวรรษแห่งความหายนะทางวัฒนธรรม
ทั้งนี้ การปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2512 แต่ยังมีผลดำเนินไปกระทั่ง หลิน เปียว ตายในปี 2514 หลังเหมาถึงแก่อสัญกรรมและการจับกุมแก๊ง 4 คนในปี 2519
ในเดือนมิถุนายน 2524 คณะกรรมาธิการกลางของจีนประกาศคำตัดสินอย่างเป็นทางการ ดังนี้ “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ซึ่งดำเนินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2509 ถึงเดือนตุลาคม 2519 เป็นสาเหตุของการเสื่อมอย่างรุนแรงที่สุดและเป็นการสูญเสียอย่างหนักที่สุดที่พรรค รัฐและประชาชนเคยประสบมาแล้ว ตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนมา
ผมไม่กล่าวหานะครับว่า การตื่นตัวของนักเรียนนักศึกษาเยาวชนคนหนุ่มสาวของเราจะเดินตามแนวคิดปฏิวัติวัฒนธรรมของพวกเรดการ์ดจีน แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า อาจจะมีบางด้านที่คล้ายๆกัน แต่หวังว่า ความเคลื่อนไหวของพวกเขาจะสร้างสิ่งที่ดีให้ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นต่อไปจะไม่กลับมาย้อนมองว่า นี่เป็นทศวรรษแห่งความหายนะทางวัฒนธรรม
เราเห็นว่า มีการโจมตีคนที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมและยึดติดกับวัฒนธรรมและรากเหง้าของสังคมไทยว่า เป็นพวก “คลั่งชาติ” ในขณะที่เมื่อถูกตอบโต้กลับว่าเป็นพวก “ชังชาติ” ก็มองว่าการกล่าวหาเช่นนั้นเป็นวาทกรรมบิดเบือนความเท็จที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความชิงชังทางการเมือง
ขณะเดียวกันสังคมไทยก็โอบกอดนักเรียนนักศึกษาเยาวชนคนหนุ่มสาวด้วยความรัก ด้วยสายใยแบบเก่าที่เป็นจารีตวัฒนธรรมที่ปลูกฝังในสังคมไทย ด้วยการพยายามรับฟังความคิดของพวกเขา ไม่โต้แย้งตอบโต้แบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า และมองว่าพวกเขาเป็นอนาคตของสังคมที่ทุกคนจะต้องรับฟัง แม้จะรู้ว่า เบื้องหลังของเขานั้นถูกบ่มเพาะมาจากคนที่พวกเขาเทิดทูนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง
และแม้จะรู้ว่า วันนี้พวกเขาถูกปลูกฝังจนมีความคิดยาวไกลกว่าปัญหาทางการเมืองที่เป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจรัฐ ไปสู่ความมุ่งหวังที่จะโค่นล้มระบอบการปกครองประเทศแล้วก็ตาม
ในยุคตุลาคม 2519นั้น กระแสคอมมิวนิสต์เติบโตสูงจนมุ่งหมายจะโค่นล้มระบอบแบบชาติในอินโดจีน มีการจัดอภิปราย นิทรรศการและหนังสือเรื่องราวของคอมมิวนิสต์แพร่หลาย แต่ยุคนี้กลับเต็มไปด้วยวงอภิปราย หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบกษัตริย์
วันนี้คนที่มีความคิดที่อยู่ตรงข้ามทางการเมืองกับฝั่งที่เป็นความนิยมของเยาวชนคนหนุ่มสาว ถูกมองว่า เป็นสลิ่มที่พวกเขาอธิบายว่าหมายถึงพวกไร้เหตุผล บิดเบือนความจริง มโนด่าคนอื่นเพื่อยกตัวเอง cognitive dissonance แต่หารู้ไม่ว่าความคิดแบบเดียวกันนี้มันก็เป็นกระจกสะท้อนกลับความคิดที่พวกเขาหมิ่นแคลนผู้อื่นด้วย
ตอนนี้พวกผสมโรงทั้งพวกเสรีนิยม เสรีนิยมใหม่ พวกสาธารณรัฐ พวกคอมมิวนิสต์ พวกเลือดสูบฉีดตกค้างจากเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 พวกกลัวตกขบวนเพราะกลัวจะไม่ถูกมองว่าเป็นนักประชาธิปไตยต่างกระโดดขึ้นเกาะท้ายขบวนการนักเรียนนักศึกษาคนหนุ่มสาวกันหมด
ต้องดูต่อไปว่า รถขบวนนี้จะนำเราไปสู่การปฏิวัติวัฒนธรรมแบบจรัลว่า หรือจะกลายเป็นทศวรรษแห่งความหายนะทางวัฒนธรรมที่คนจีนประสบ ก็ได้แต่ภาวนาว่า สังคมไทยจะมีชะตากรรมที่ดีกว่านั้น
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
September 11, 2020 at 01:05PM
https://ift.tt/2Rjdc3W
การตื่นตัวของเยาวชนคนหนุ่มสาว คือการปฏิวัติทางวัฒนธรรม? - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/375SP1C
Bagikan Berita Ini
0 Response to "การตื่นตัวของเยาวชนคนหนุ่มสาว คือการปฏิวัติทางวัฒนธรรม? - ผู้จัดการออนไลน์"
Post a Comment