ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ติสตู tistoo79@hotmail.com |
เผยแพร่ |
”Black Lives Matter” ชีวิตคนดำก็มีค่า มักจะถูกเขียนชูป้ายขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดหลายปีมานี้ เมื่อมีเหตุการณ์ประชาชนคนผิวดำเสียชีวิตลงจากการใช้กำลังความรุนแรงเกินกว่าเหตุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐ และทุกครั้งที่มีคนผิวดำเสียชีวิตระหว่างการถูกจับกุมอย่างน่าเคลือบแคลงนั้น ก็มักจะทำให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมืองและการต่อต้านการเหยียดสีผิวตามมา นี่เป็นวัฏจักรวนเวียนที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในสหรัฐอเมริกา
ด้านหนึ่ง “Black Lives Matter” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ กลุ่มพลังสังคมที่ต่อต้านความรุนแรงของตำรวจที่กระทำต่อคนดำนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ที่ศาลสหรัฐตัดสินให้ผู้ต้องหาที่ยิง “เทรวอน มาร์ติน” วัยรุ่นอเมริกันผิวดำเสียชีวิตพ้นผิด และขบวนการนี้ก็ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นลักษณะนี้ตลอด 5-6 ปีมานี้
นอกจากนี้ ในการประท้วงระยะหลังคำพูด “I can’t breath” หรือ “ผมหายใจไม่ออก” ยังได้ถูกนำมาใช้ในเชิง “สัญลักษณ์” ทางการเมืองในการต่อสู้กับประเด็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อคนผิวดำหลายต่อหลายครั้ง นั่นเพราะในอดีตมีหลายเหตุการณ์ที่คนดำเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจจับกุมอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยมีหลักฐานว่าพวกเขาก็ล้วนพูดคำสุดท้ายซ้ำไปมาว่า “ผมหายใจไม่ออก” ประโยคดังกล่าวจึงถูกใช้เป็น “สาร” ในการชุมนุมด้วยเช่นกัน
ล่าสุดกับกรณี “จอร์จ ฟลอยด์” ชายชาวอเมริกันผิวดำวัย 46 ปี เสียชีวิตขณะถูกจับกุมโดยตำรวจเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จุดประกายการชุมนุมต่อต้านการเหยียดสีผิวไปทั่วโลกในขณะนี้
คลิปวิดีโอวินาทีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม “จอร์จ ฟลอยด์ ในลักษณะใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ มีการคุกเข่าบนคอของผู้ถูกจับกุมแม้เขาจะร้องขอความเห็นใจว่าเขาหายใจไม่ออก หรือ I can’t breath ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งตำรวจกระทำการอย่างนั้นอยู่นานเกือบ 9 นาที กระทั่งจอร์จ ฟลอยด์ แน่นิ่งเสียชีวิตไป
แม้เหตุการณ์นี้ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากทางการมีการไล่ออกตำรวจ 4 นายในเหตุการณ์ ตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไม่เจตนาแก่หนึ่งในตำรวจที่ก่อเหตุใช้กำลังลุแก่อำนาจ และมอบหมายให้เอฟบีไอเข้ามาสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ได้จุดชนวนการประท้วงครั้งใหญ่ และขยายไปสู่เหตุการณ์จลาจลวุ่นวายในเมืองมินนิอาโปลิสจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเมือง และมีการส่งกองกำลังทหารลงพื้นที่ควบคุมการชุมนุมประท้วง
กรณีจอร์จ ฟลอยด์ ยังได้ลุกลามไปสู่การชุมนุมไปยังรัฐอื่นๆ ทั่วสหรัฐด้วย ทั้งแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และโคโลราโด บอสตัน เป็นต้น
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหตุการณ์จอร์จ ฟลอยด์ ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า “ตำรวจ” ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายมีอคติหรือทัศนคติที่เหยียดคนผิวดำหรือไม่
“The Force” คือภาพยนตร์สารคดีที่จะตอบคำถามนี้ได้ พอๆ กับที่ยังพูดไปไกลถึงวัฒนธรรมเป็นพิษในวงการตำรวจสหรัฐ ผ่านเรื่องราวของสำนักงานตำรวจโอ๊คแลนด์ แคลิฟอร์เนีย ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสำนักงานตำรวจที่ถูกรายงานปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจติดอันดับต้นๆ ของประเทศ
สารคดีตามติดช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ที่สำนักงานตำรวจแห่งนี้พยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ และปฏิรูปสำนักงานครั้งใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าความพยายามครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อวัฒนธรรมเป็นพิษได้ฝังรากลึกไปเสียแล้ว นอกจากปัญหาข้อร้องเรียนการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของตำรวจในการรับมือกับประชากรผิวดำ สำนักงานยังต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวที่มีนายตำรวจกว่า 10 นายเข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ การค้าประเวณีของผู้เยาว์ การประพฤติผิดทางเพศ
หนังสารคดีฉายภาพแบบเหรียญสองด้านตั้งคำถามกันตรงๆ ระหว่าง มุมมองของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กับมุมมองของประชาชนและสื่อมวลชน ผ่านการติดตามดูชีวิตนายตำรวจหนุ่มที่เพิ่งก้าวพ้นรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจและไปลาดตระเวนปฏิบัติหน้าที่ และยังย้อนพาไปดูช่วงเวลาที่นักเรียนตำรวจเหล่านี้ผ่านการฝึกฝนและเรียนรู้จากโรงเรียนนายร้องตำรวจอะไรมาบ้าง
เราจะได้เห็นการอบรมและสอนเกี่ยวกับจริยธรรมศาสตร์ของผู้ใช้กฎหมายและผู้มีอำนาจ ซึ่งมีการบรรยายไปจนถึงการตั้งวงเพื่อถกเถียงถึงสถานการณ์น่าสิ่วน่าขวานที่จะมีผลต่อการตัดสินใจถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรทำของตำรวจ ไปจนถึงการรับมือต่อสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ที่น่าสนใจคือ การถกเถียงนี้เราจะได้เห็นมุมมองหลายอย่างของนายตำรวจบางคนที่กำลังจะเรียนจบออกมาปฏิบัติหน้าที่ พวกเขาดูจะมีมุมมองการใช้อำนาจและความรุนแรงที่ขัดแย้งและสวนทางกับความรู้สึกของประชาชน
กว่าครึ่งเรื่องที่หนังสารคดีแม้จะพยายามเล่าอย่างถ่วงดุลให้เห็นถึงอีกแง่มุมของตำรวจที่ต้องทำงานท่ามกลางแรงกดดันมากมาย เห็นความพยายามปฏิรูปสำนักงานตำรวจเมืองโอ๊คแลนด์ตั้งแต่การฝึกอบรมเข้มงวด พูดถึงปัญหาเซ็นซิทีฟอ่อนไหวที่ต้องครุ่นคิดและรับมือ ไปจนถึงความพยายามในทางปฏิบัติ ติดตั้งกล้องที่อกเสื้อตำรวจลาดตระเวนทุกนายเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนระหว่างเข้าจับกุม ไปจนถึงการต้องเขียนรายงานอย่างละเอียดในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีเหตุการณ์การใช้กำลังเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การใช้ปืนไฟฟ้ากับผู้ต้องสงสัย ไปจนถึงความพยายามต่างๆ ที่จะปรับภาพลักษณ์เพื่อลดภาพตำรวจกับความรุนแรง แต่ความพยายามดูจะไร้ผล แม้มีตัวเลขสถิติที่ดีขึ้น แต่เหตุการณ์อื้อฉาวที่ยังคงมีมาเป็นระลอก ต้นทุนที่มีต่ำอยู่แล้วของตำรวจก็ยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อผู้ใช้กฎหมายไปด้วยปริยาย
“ทันทีที่คุณสวมเครื่องแบบ คุณก็คือตัวแทนของพวกเรา คุณจะเป็นตัวแทนแบบไหนของครอบครัว คุณจะแทนตัวเองอย่างไร และจากนั้นคุณจะเป็นตัวแทนของสำนักงานตำรวจอย่างไร นั่นคือสิ่งที่คุณต้องถามตัวเอง เมื่อคุณออกไปข้างนอกนั่น และคิดเรื่องทำตัวไม่เหมาะสม เวลาออกไปที่นั่นและปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือคุณ ผู้คนจะจดจำวิธีที่คุณจะปฏิบัติต่อเขาหรือเปล่า ผู้คนจะจดจำว่าคุณช่วยเขาหรือเปล่า ชื่อของคุณจะมีความหมายต่อพวกเขาไหม” นายตำรวจผู้ใหญ่บรรยายให้นักเรียนนายร้อยตำรวจที่กำลังจะติดตราตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่เต็มตัวฟัง
The Force ใช้การเล่าเรื่องผสมเหตุการณ์ที่ตำรวจต้องรับมือในสถานการณ์จริง ตัดสลับเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้และเตรียมตัวออกมาเป็นนายตำรวจที่ดูเหน็ดเหนื่อยยากเข็น กระทั่งผ่านสู่ช่วงเวลารอยยิ้มหลังเรียนจบหลักสูตรตำรวจ พวกเขาติดตราสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจที่จะก้าวสู่อาชีพตำรวจเต็มตัว
ในรอยยิ้มเหล่านั้นไม่มีใครรู้ว่า เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละคนจะพาตัวเองไปสู่จุดหมายปลายทางของการเป็นตำรวจดี หรือตำรวจเลว…ใครจะยังคงเป็นมรดกวัฒนธรรมเป็นพิษในองค์กรที่ได้รับสิทธิอำนาจให้เป็นผู้ใช้กฎหมายและถือปืนกระบอกนั้น
June 07, 2020 at 01:30PM
https://ift.tt/2XFntvp
คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : The Force 'วัฒนธรรมเป็นพิษ'วงการตำรวจสหรัฐ - มติชน
https://ift.tt/375SP1C
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : The Force 'วัฒนธรรมเป็นพิษ'วงการตำรวจสหรัฐ - มติชน"
Post a Comment