Search

มหกรรมไร่หมุนเวียนและสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ จ.แม่ฮ่องสอน - ไทยโพสต์

liloeconomie.blogspot.com

แม่ฮ่องสอน / ครบรอบ 10 ปี ‘มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553’ พี่น้องกะเหรี่ยง  กลุ่มชาติพันธุ์  และภาคีเครือข่ายกว่า 10 หน่วยงานร่วมจัด ‘มหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอนฯ’  เพื่อร่วมกันนำเสนอรูปธรรมการจัดการตามมติ ครม. ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในด้านต่าง ๆ  รณรงค์ให้มติ ครม.ดังกล่าวเป็นที่รับทราบต่อสาธารณะ  ให้มีมาตรการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์  และผลักดันพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ  ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นพื้นที่ต้นแบบทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ย้อนรอยมติ ครม. 3 สิงหาคม  2553

นับเป็นเวลา 10 ปีที่คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม  2553  ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’  ดังนี้  1.เห็นชอบหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  2. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงไปปฏิบัติ

ทั้งนี้ตามมติ ครม.ดังกล่าว  มีมาตรการฟื้นฟูระยะยาวดำเนินการภายใน 1-3 ปี  โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญด้านการจัดการทรัพยากร  ให้เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้  ป่าอนุรักษ์  ป่าสงวนฯ ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีข้อเท็จจริงจากการพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัย  ดำเนินชีวิต  และใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน  หรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมาย  หรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว  โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ  เช่น  “ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม

“จัดตั้งคณะกรรมการ  หรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน  การอยู่อาศัย  และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม  เพื่อจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ หรือการถือครองพื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับหน่วยงานรัฐ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  ผู้มีส่วนได้เสีย  นักวิชาการ  และผู้ปฏิบัติงานทางด้านวิถีวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน  ตลอดจนนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา  โดยกำหนดอำนาจหน้าที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์”

“ส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถี วัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียง  รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม”

“การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม กำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโดยมีพื้นที่นำร่อง เช่น   บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง  อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย,  ต.ไล่โว่  อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี ฯลฯ”

ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เตรียมประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษในช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง  มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553  จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว  แต่กลุ่มชาติพันธุ์  โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ  ทั้งปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  ฯลฯ  พี่น้องชาวกะเหรี่ยงและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันขับเคลื่อนให้มติ ค.ร.ม.ดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติ  โดยการสนับสนุนการจัดตั้ง ‘เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยง’ ขึ้นมาแล้วหลายพื้นที่   และผลักดันให้มติ ครม.ยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลในทางปฏิบัติต่อไป   เพื่อให้สามารถคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างแท้จริง 

จัดงาน ‘มหกรรมไร่ข้าวหมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรม’ จ.แม่ฮ่องสอน

ล่าสุดระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการจัดงาน ‘มหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ครบรอบ 10 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553’  โดยภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงานร่วมจัด  มีผู้เข้าร่วมประมาณ 450 คน

นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า นับจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 บัดนี้เป็นระยะเวลาครบรอบ 10 ปี  แม้แนวทางการปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าวจะไม่ชัดเจนเท่าที่ควร  แต่ชุมชนกะเหรี่ยงหลายพื้นที่ได้ประกาศให้สาธารณชนรับทราบว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองตามมติ ครม.ดังกล่าว โดยการผลักดันให้มีการฟื้นฟูวิถีชีวิตในทุกด้าน  ตามหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงซึ่งพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษแล้ว

เช่น บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย, บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน อ.แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่, ชุมชนบ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ  จังหวัดลำปาง บ้านแม่หมี ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จังหวัดลำปาง  บ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ที่ได้จัดกิจกรรมประกาศให้เป็น “เขตวัฒนธรรมพิเศษ”  และในปีนี้ ได้มีการจัดเวทีสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่บ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) ตำบลป่าพลู  อำเภอบ้านโฮ่ง  จังหวัดลำพูน  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

ส่วนวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้  นายประยงค์กล่าวว่า 1.เพื่อร่วมกันนำเสนอรูปธรรมการจัดการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม สถานะ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  2. เพื่อรณรงค์ให้มติ ครม.ดังกล่าวเป็นที่รับทราบต่อสาธารณะ  และผลักดันให้มีมาตรการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์  พร้อมนำเสนอปัญหาและอุปสรรคไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบาย  3. เพื่อผลักดันพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ  ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นพื้นที่ต้นแบบทั้งจังหวัด

นอกจากนี้ในการจัดงานครั้งนี้  ภาคีเครือข่าย  ผู้เข้าร่วมงาน  ตลอดจนสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาระบบการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านหนองขาวกลาง  ต.ห้วยปูลิง  อ.เมือง  จ.แม่ฮ่องสอน   เป็นหมู่บ้านที่มีอายุ 100 กว่าปี  มีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง  นอกจากปลูกข้าวไร่แล้ว  ชาวกะเหรี่ยงยังปลูกพืชผักต่างๆ ที่กินได้ลงในไร่หมุนเวียนมากกว่า 30-40 ชนิด  เช่น  ข้าวโพด  มะเขือต่างๆ   ผักกาด  ฟักทอง  ฯลฯ  รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าด้วย

‘ไร่หมุนเวียน’ ไม่ใช่การทำลายป่า  แต่สร้างสมดุลให้ระบบนิเวศน์

จังหวัดแม่ฮ่องสอน  มีเนื้อที่ทั้งหมด 7,987,808.27 ไร่  พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า  โดยมีพื้นที่ป่าประมาณ 6,860,611.94 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 85.99 ของพื้นที่   แม้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา   รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้   แต่กลับละเลยในเรื่องของชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน  จนทำให้หมู่บ้านและชุมชนต่างๆ  จำนวน  347  หมู่บ้าน (จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 415 หมู่บ้าน) อยู่ในเขตป่าต่างๆ  ทั้งป่าสงวนฯ  ป่าอนุรักษ์  ทำให้ชุมชนกลายเป็นผู้บุกรุก  ทั้งที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเป็นเขตป่า

ไร่หมุนเวียนที่บ้านหนองขาวกลาง  ต.ห้วยปูลิง  อ.เมือง  จ.แม่ฮ่องสอน  

ปัญหาดังกล่าว  ส่งผลให้ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลายเป็นคนจน “ถึง 3 จน”  คือ   “จนที่ 1 คือจนสิทธิที่ดินทำกิน   จนที่ 2  คือจนโอกาส   และจนที่ 3 จนเงินจนรายได้”   เพราะตกสำรวจที่ดินทำกิน  พื้นที่จิตวิญญานตามวิถีวัฒนธรรม มีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์  ป่าสงวนฯ   ทับซ้อนพื้นที่บรรพบุรุษ  เกิดปัญหาการเข้าถึงการพัฒนาด้านต่างๆ  กลายเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดในประเทศ

นอกจากนี้ประชากรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ  284,138 คน  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  เช่น  ม้ง  ลีซู  ลาหู่ดำ  ลาหู่แดง  ลัวะ   จีนยูนนาน   กะเหรี่ยงโปว  ปะโอ  ไทใหญ่  ฯลฯ  โดยมีจำนวนชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด  และล้วนแต่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมในการพึ่งพาอาศัยและดูแลป่า  โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในการรักษาดูแลป่า  ทำให้สามารถรักษาป่าผืนใหญ่ให้กับคนทั้งประเทศ  ให้ป่ายังคงอุดมสมบูรณ์   เมื่อมีป่า ก็มีน้ำที่สะอาด  นำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เป็นเพราะวิถีชีวิตการอนุรักษ์  การทำไร่หมุนเวียน  ที่ไม่ต้องใช้สารเคมี  ทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ

พฤ โอโดเชา ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่  อธิบายลักษณะการปลูกพืชในไร่หมุนเวียนว่า  ตอนปลูกพืชใหม่ๆ  จะมีผักต่างๆ ทั้งฟักทอง ผักกาด แตงกวา ข้าวโพด และหลังเก็บเกี่ยวข้าวในไร่หมุนเวียนยังมี พริก มะเขือ มะเขือเครือ  ขิง และข่า ซึ่งชาวบ้านสามารถเก็บมากินได้

จากตอไม้ที่ชาวบ้านตัด 1 ต้น จะพบว่ามีการแตกหน่อออกมาอีกหลายยอดขึ้นมาใหม่  โดยตอนแรกจะมีพืชเบิกน้ำขึ้นมาคลุม  เช่น  สาบเสือ หญ้า ขึ้นมาคลุมหน้าดิน  และจะมีต้นไผ่  และไม้ใหญ่ขึ้นมา ก็จะเริ่มกลายเป็นป่า  พอ 7 ปี วงจรของหญ้าหายไปชาวบ้านก็จะกลับมาทำไร่ในพื้นที่เดิม

ความสำคัญของการทำไร่หมุนเวียน  คืออาศัยน้ำฝน ไม่ได้อาศัยน้ำเหมือนกับในนา  ส่วนวิธีการปลูกข้าวนั้น จะใช้วิธีการผสม  คือข้าว 1 กำมือ จะคลุกกับพืชต่างๆ  มีทั้งเมล็ดฟักทอง แตงกวา  ผักกาด  หยอดลงไป เมื่อโตมาเราก็สามารถเลือกกินทีละอย่างได้ นี่คือการทำเกษตรที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ง่ายมาก

แต่ยังมีข้อสำคัญที่ว่านโยบาย  และคนในเมืองไม่เข้าใจว่านี่คือการทำไร่เลื่อนลอย  ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วพอเราทำ  ก็จะมีสัตว์ป่า  ทั้งหมูป่า  เก้ง  นก  เข้ามาอาศัยอยู่ในไร่ ที่นี่มีพันธุ์พืชหลากหลาย  เป็นการทำกินที่พึ่งเทคโนโลยีน้อยมาก  แต่สามารถตอบแทนได้สูง  คือรอดได้ 1 ปีในนี้  และอาหารก็อยู่ในนี้ประมาณกว่า 80 ชนิด

“ความสำคัญของไร่หมุนเวียนคือ เพราะที่ราบมีให้เราไม่เยอะ  เราอยู่บนภูเขาก็ต้องมีข้าวกิน  ก็ต้องขึ้นมาปลูกบนดอย  อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตเช่นนี้กำลังสูญหายจากประเทศไทยถ้าไม่อนุรักษ์ไว้  และถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน กำพืดของเราก็จะหายไป  แล้วเราก็จะอพยพตัวเองไปเป็นแรงงานในเมือง ภูมิปัญญาเรื่องพันธุ์พืช หรือแม้แต่เกษรดอกไม้ก็จะหายไป จึงอยากฝากให้คนเข้าใจเรื่องนี้เยอะๆ

ประกาศ “ปฏิญญาแม่ฮ่องสอน” ว่าด้วย “การสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ
และการผลักดันกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”

การจัดงานครั้งนี้  ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกันอ่าน “ปฏิญญาแม่ฮ่องสอน” ว่าด้วยการสืบทอดภูมิปัญญาระบบไร่หมุนเวียนและการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน  เนื่องในวาระการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยระบุว่า  เป็นเวลากี่เดือนปี  กี่รุ่นคน  ที่ชีวิตต้องถูกตรึงภายใต้สังคมอันบิดเบี้ยว  ต้องกลายเป็นผู้อยู่อาศัยภายใต้นานากฎหมายการจัดการทรัพยากรของประเทศที่กดทับชีวิตผู้คน

“กลุ่มชาติพันธุ์ชาวแม่ฮ่องสอนจะร่วมกันยืนหยัดในวิถีชีวิต และประกาศเจตนารมณ์ต่อสังคมดังต่อไปนี้ 1.ขอยืนยันว่าจะยังดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์  พื้นที่แห่งนี้เป็นผืนดินที่บรรพบุรุษได้ก่นสร้าง   อยู่อาศัย ทำกิน และดูแลรักษามาหลายร้อยปี  หลายชั่วชีวิตคน  เพื่อให้เป็นมรดกสืบทอดสู่ลูกหลาน  พวกเรายืนยันที่จะปกป้องรักษา

2.ขอยืนยันว่าไร่หมุนเวียนเป็นการใช้วิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่สุด  วิถีการทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การทำลายป่า แต่เป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ  ทรัพยากรดิน  น้ำ  ป่า  ซึ่งชาวแม่ฮ่องสอนได้พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วจากตัวเลขผืนป่าที่มีมากที่สุดในประเทศ

3.ขอเรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)และหน่วยงานเกี่ยวข้อง  ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553  ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  อันได้แก่  การเพิกถอนพื้นที่ป่าของรัฐออกจากชุมชนดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว  ยุติการคุกคาม จับกุม ดำเนินคดี  ยึดพื้นที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยง

4.พวกเรายืนยันดำรงวิถีชีวิต  โดยใช้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เป็นที่ตั้ง  และจะเดินหน้าผลักดันให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป”

ตัวแทนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันประกาศปฏิญญาแม่ฮ่องสอน

การจัดงาน มหกรรมไร่หมุนเวียนและการสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ครบรอบ 10 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553  ร่วมจัดงานโดย  เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน, องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน, วิทยาลัยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.), เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม, สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD), สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT), มูลนิธิชุมชนไท, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), องค์การแอคชั่นเอด ประเทศไทย, สหภาพยุโรป (EU), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI), American Jewish World Service (AJWS) และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

(หมายเหตุ :  ข้อมูลและรูปภาพจากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

Let's block ads! (Why?)




August 03, 2020 at 05:05PM
https://ift.tt/3grH4pO

มหกรรมไร่หมุนเวียนและสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ จ.แม่ฮ่องสอน - ไทยโพสต์

https://ift.tt/375SP1C


Bagikan Berita Ini

0 Response to "มหกรรมไร่หมุนเวียนและสถาปนาพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ จ.แม่ฮ่องสอน - ไทยโพสต์"

Post a Comment

Powered by Blogger.